
ทำความรู้จักกับโครงสร้างของเรโทรไวรัสอย่างละเอียดเพื่อการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง
เชื้อเรโทรไวรัสในแมวบ้านที่พบได้บ่อยและมีความสำคัญทางคลินิกในปัจจุบัน ได้แก่ ไวรัสลิวคีเมียแมว (feline leukaemia virus, FeLV) ซึ่งจัดอยู่ในจีนัสแกมมาเรโทรไวรัส (gammaretrovirus) และไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องแมว (feline immunodeficiency virus, FIV) ซึ่งอยู่ในจีนัสเลนติไวรัส (lentivirus) ไวรัสทั้งสองมีรูปร่างและคุณสมบัติทั่วไปเหมือนกับเรโทรไวรัสอื่น ๆ กล่าวคือ เป็นไวรัสที่มีเปลือกหุ้ม (envelope) และมีสายพันธุกรรมเป็นอาร์เอ็นเอสายเดี่ยวสายบวกสองสาย ((+) single - stranded RNA) รวมทั้งมีการกลับอาร์เอ็นเอสายเดี่ยวเป็นดีเอ็นเอสายคู่ (reverse transcription) และการแทรกดีเอ็นเอสายคู่ที่สร้างขึ้นลงไปในจีโนมของโฮสต์ (integration) โดยอาศัยเอนไซม์รีเวิร์สทรานสคริปเตส (reverse transcriptase) และอินทิเกรส (integrase) ตามลำดับ ซึ่งสองขั้นตอนนี้เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ไวรัสในวงศ์ Retroviridae ใช้เพิ่มจำนวน
ส่วนประกอบทั่วไปของเรโทรไวรัสด้านนอกสุดประกอบด้วยเปลือกหุ้ม (envelope) ที่มีโมเลกุลของไกลโคโปรตีนยื่นออกมาด้านนอก ส่วนไกลโคโปรตีนประกอบด้วย 2 ส่วนย่อย (subunit) ได้แก่ surface (SU, gp70 ใน FeLV และ gp120 ใน FIV) และ transmembrane (TM, p15E ใน FeLV และ gp41 ใน FIV) ด้านในส่วนเปลือกของไวรัสประกอบด้วยโปรตีนเมทริกซ์ (MA, p15 ใน FeLV และ p17 ใน FIV) เรียงอยู่โดยรอบเพื่อรักษารูปร่างของตัวไวรัสไว้ ส่วนแกนกลางของไวรัส (core) ถูกสร้างขึ้นโดยโปรตีนแคปซิด (CA, p27 ใน FeLV และ p24 ใน FIV) ซึ่งห่อหุ้มอาร์เอ็นเอของไวรัสที่อยู่ร่วมกับนิวคลิโอแคปซิดโปรตีน (NC p10 ใน FeLV และ p13 ใน FIV) และเอนไซม์ที่ไวรัสใช้ในการเพิ่มจำนวน ได้แก่ รีเวิร์สทรานสคริปเตส (reverse transcriptase, RT) โปรติเอส (protease, PR) และอินทิเกรส (integrase, IN) การเพิ่มจำนวนของเรโทรไวรัสเริ่มจาก (1) ไวรัสจับกับตัวรับที่จำเพาะบนผิวเซลล์ ซึ่งจะเหนี่ยวนำให้เกิด (2) การรวมกันของเปลือกหุ้มไวรัสและเยื่อหุ้มเซลล์ (membrane fusion) ตามมาด้วย (3) การปลดปล่อยอาร์เอ็นเอของไวรัสออกมาในไซโตพลาสซึม และการเปลี่ยนให้กลายเป็นดีเอ็นเอสายคู่ (reverse transcription) จากนั้น (4) ดีเอ็นเอสายคู่ที่สร้างขึ้นมาใหม่จะเคลื่อนย้ายไปในนิวเคลียส และแทรกตัวลงในจีโนมของโฮสต์ (integration) โดยเราจะเรียกดีเอ็นเอสายคู่ของไวรัสที่แทรกตัวอยู่ในจีโนมของโฮสต์ว่า “โปรไวรัส” (5) ไวรัสเพิ่มจำนวนด้วยการสร้างสายอาร์เอ็นเอใหม่และสร้างโปรตีนที่จะประกอบรวมตัวกัน และ (6) เคลื่อนย้ายไปยังบริเวณที่มีไกลโคโปรตีนของไวรัสอยู่หนาแน่นเพื่อออกจากเซลล์ (budding) ต่อไป ปัจจุบันเรามีชุดตรวจแบบใช้ในห้องตรวจ (point-of-care test) ทั้ง 2 ไวรัส ได้แก่ ไวรัสลิวคีเมียแมว (feline leukaemia virus, FeLV) ซึ่งอยู่ในจีนัสแกมมาเรโทรไวรัส (gammaretrovirus) และไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องแมว (feline immunodeficiency virus, FIV) ซึ่งอยู่ในจีนัสเลนติไวรัส (lentivirus) ทั้งสองไวรัสเป็นไวรัสที่มีเปลือกหุ้ม (envelope) และมีสายพันธุกรรมเป็นอาร์เอ็นเอสายเดี่ยว ซึ่งไวรัสทั้งสองต้องมีการเปลี่ยนเป็นดีเอ็นเอสายคู่ก่อนจะแทรกเข้าไปในสายดีเอ็นเอของแมวที่ติดเชื้ออย่างถาวร ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวนี้เอง จึงทำให้การติดเชื้อไวรัสทั้งสองชนิดเป็นการติดเชื้อแบบถาวร (persistent infection)และในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้แมวที่ติดเชื้อให้หายขาดได้ อ่านถึงตรงนี้คุณหมอคงอยากจะข้ามบทความนี้ไป เพราะดูเหมือนว่าจะให้ข้อมูลทางไวรัสวิทยาเชิงลึกที่ไม่จำเป็น ซึ่งก็เป็นคำถามที่ผมถูกถามเป็นประจำจากนักเรียนสัตวแพทย์ว่าเราจะรู้กันไปทำไมว่าไวรัสมีเปลือก ไม่มีเปลือก หรือวงจรชีวิตไวรัสเป็นอย่างไร โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับตัวเชื้อมีความสำคัญอย่างมากสำหรับการวินิจฉัย การทำนายโรค รวมถึงการถ่ายทอดให้เจ้าของเคสเข้าใจ โดยเฉพาะในโรคติดเชื้อที่เป็นแล้วไม่หายขาดทั้งสองโรคนี้ครับ
บทความโดย อ. น.สพ. ดร.นวพล เตชะเกรียงไกร คอลัมน์ Main Stream 1 VPN 209 เดือนกุมภาพันธ์ 2563
ขอบคุณบทความจาก
https://www.readvpn.com/Topic/Info/049b0e74-1959-481e-aa72-71b2e502c5ca?fbclid=IwAR3_sa3N_T8WjcVfnaYNvZa1tHcDZ_4anl4MwzwbGZjw6cc3OjW4U_s_oqI