
ช่วงนี้เข้าสู่ช่วงฤดูฝนกันแล้ว🌧 อากาศค่อนข้างร้อนและชื้นเลยทีเดียวครับ ช่วงฤดูฝนนี้เป็นช่วงที่โรคสามารถแพร่กันได้ง่ายมากเลย แถมแพร่กันได้เร็วสะด้วย ไม่ว่าจะในคนหรือในสัตว์เลี้ยงก็ตาม...
ซึ่งโรคที่มากับฝนนั้นเกิดได้ง่ายมากเลยครับ เช่นโรคพยาธิหนอนหัวใจในน้องหมาและน้องแมว โดยมี "ยุง" เป็นพาหะ เมื่อสัตว์ที่คุณเลี้ยงเป็นโรคนี้แล้วจะมีวิธีรับมืออย่างไร วันนี้เราเลยมีข้อมูลเบื้องต้น และวิธีรักษาที่แนะนำมาฝากกันครับ
ยุง เป็นแมลงขนาดเล็ก มีส่วนปากคล้ายท่อไว้ใช้ในการดูดเลือด และส่งผ่านปรสิตชนิดต่างๆไปยังสุนัขและแมวที่ถูกกัด การเข้าทำลายของแมลงชนิดนี้มักจะเลือกเข้าทำลายในบริเวณใบหู และจมูกของสัตว์เลี้ยง เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีขนปกคลุมเพียงเล็กน้อยและง่ายต่อการเข้าทำลายของพวกมัน ยุงที่กัดจะก่อให้เกิดอาการคันอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับอาการที่เกิดขึ้นในมนุษย์ และไม่เพียงเท่านี้ ยุงยังสามารถแพร่กระจายโรคที่ร้ายแรงอย่าง โรคพยาธิหนอนหัวใจ ให้กับสุนัขและแมวได้อีกด้วย
โรคพยาธิหนอนหัวใจ (Heartworm disease)
ในสุนัขและแมว คือ โรคที่เกิดจากการเข้าทำลายของพยาธิชนิด Dirofilaria immitis (พยาธิหนอนหัวใจ) โดยจะพบเชื้อได้ในกระแสเลือดของสุนัขและแมวที่ติดเชื้อ โรคนี้มียุงเป็นพาหะนำโรค กลไกของการเกิดโรคจะเริ่มขึ้นเมื่อสุนัขและแมวถูกยุงที่ติดเชื้อกัด โดยหลังจากที่ถูกกัด เชื้อพยาธิหนอนหัวใจเข้าไปเติบโตอยู่ภายในตัวของสุนัขและแมวจนพัฒนาตัวเองกลายไปเป็นตัวเต็มวัยและย้ายไปอาศัยอยู่ในหัวใจห้องล่างขวาและเส้นเลือดแดงในปอดของสุนัขและแมว
ความรุนแรงของโรค
ขึ้นอยู่กับจำนวนของพยาธิหัวใจที่อาศัยอยู่ภายในหัวใจและเส้นเลือดดำใหญ่ของสุนัข ระยะเวลาที่เป็นโรคและการตอบสนองของร่างกายของสุนัข โดยส่วนใหญ่มักมีผลต่อระบบการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด , ระบบหายใจ (ภาวะปอดอักเสบเนื่องจากตัวพยาธิหัวใจมาอุดตัน) และการทำงานของไต (ตัวอ่อนของพยาธิสามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองทางภูมิคุ้มกันและทำให้เกิดความผิดปกติของกรวยไต)
การพบโรค สามารถพบได้ในพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศที่เหมาะกับการแพร่ระบาดของยุง ซึ่งเป็นพาหะสำคัญในการแพร่กระจายโรคในพื้นที่เขตร้อนและร้อนชื้น เช่นประเทศไทย นอกจากนั้นสามารถพบได้มากในสุนัขที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มีการระบาด และไม่เคยได้รับการป้องกันโรคมาก่อน การติดต่อสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงอายุ แต่โดยส่วนใหญ่มักตรวจพบในสุนัขที่มีอายุอยู่ในช่วง 3-8 ปี
อาการ
อาการที่พบได้ในโรคพยาธิหนอนหัวใจในสุนัข ได้แก่ คัน เซื่องซึม เบื่ออาหาร หอบ เหนื่อยง่าย ไอแห้ง เป็นลม บวมน้ำ ท้องมาน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจล้มเหลว หายใจลำบาก (โรคอื่นๆ อาจมีการแสดงลักษณะอาการเหล่านี้ออกมาเช่นเดียวกับโรคพยาธิหนอนหัวใจ) เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดต่อการวินิจฉัย สัตว์เลี้ยงที่ป่วยควรเข้ารับการตรวจเลือด เพื่อวินิจฉัยโรคและหาแนวทางการรักษาอย่างถูกต้อง
การวินิจฉัย
ทำได้โดยการตรวจเลือด ซึ่งการตรวจเลือดจะมีความแม่นยำสูงแต่ก็มีโอกาสผิดพลาดได้ในกรณีที่มีตัวพยาธิน้อย
การรักษาและวิธีการป้องกัน
ในขั้นแรกควรรักษาอาการคันจากการถูกกัดที่หูและจมูกโดยการทายาฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดครีมเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคแทรกซ้อน ในส่วนของการรักษาโรคพยาธิหนอนหัวใจคือส่วนสำคัญของโปรแกรมการรักษาควรอยู่ภายใต้การควบคุมของสัตวแพทย์ สัตวแพทย์จะทำการตรวจเลือดและทำการรักษาตามขั้นตอน "แนะนำให้ตรวจปีละ 1 ครั้ง" เจ้าของสุนัขควรทำการควบคุมประชากรยุงที่อยู่รอบๆบ้านเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพยาธิหนอนหัวใจ
บทความอ้างอิงจาก : โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน